นิทานพื้นบ้าน เรื่อง ใครผิด สื่อภาพท้องถิ่นชายแดนภาคใต้ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง มีอาชีพประมง ถัดมาทำนา หรือทำสวน ตัวละครที่เป็นสัตว์มีชีวิตอยู่ริมน้ำหรือในน้ำ คือ นาก กุ้ง เต่า และปลาดุก ถัดมา คือ สัตว์ป่าใกล้หมู่บ้าน คือ นกหัวขวานและกระจง ส่วนสัตว์ในจินตนาการ คือ พญาราชสีห์ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจ จึงนำมาเป็นผู้พิพากษา
ประการถัดมา คือ เข้าใจลักษณะธรรมชาติของสัตว์ รู้จักนำลักษณะเด่นของสัตว์มาประกอบเพื่อให้ภาพชัดเจน เช่น
นกหัวขวาน มักใช้ปากเจาะต้นไม้หาอาหาร หรือทำรัง ทำให้เกิดเสียงดังเหมือนตีกลองเป็นจังหวะ
กุ้ง มีกรีเป็นโครงแข็งที่หัว เหมือนถือหอก หรือดาบ
เต่า มีกระดองหนาหุ้มตัว เหมือนสวมหมวกเหล็กป้องกันอาวุธ
ปลาดุก มีเงี่ยงแหลมที่ริมหูทั้งสองข้าง เหมือนแบกอาวุธ
เสียงกลองให้จังหวะเดินทัพของนกหัวขวาน ทำให้สัตว์ดังกล่าวคว้าอาวุธเดินตาม
แต่เมื่อปลาดุกตัวสุดท้ายถูกซักไซ้ ทำให้รู้สาเหตุว่ามาจากแม่นาก ผู้ฟ้องร้องพญาราชสีห์นั่นเอง ในที่สุดก็ทราบว่าใครผิด
นิทานเรื่องนี้มีคติสอนใจว่า
“การจะสรุปถึงความผิดของผู้ใด
ต้องพิจารณาด้วยเหตุผล ให้ถ่องแท้เสียก่อน”